รอยแผลหลังทำหน้าอก มักเป็นปัญหากวนใจสาวๆ อยู่เสมอครับ ซึ่งรอยแปลเช่นนี้ เกิดจากกระบวนการรักษาแผลที่เกิดจากการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ และมีการสร้างเนื้อเยื่อที่เป็นคอลลาเจนมาทดแทนเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไป ซึ่งเป็นกระบวนการรักษาแผลตามธรรมชาติ เมื่อแผลหายดีแล้วก็จะทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ โดยแผลที่มักทำให้เกิดแผลรอยแผลเป็นมักมาจาก แผลอุบัติเหตุ แผลจากรอยสิว และแผลผ่าตัดศัลยกรรมตามที่กล่าวมาข้างต้นครับ อย่างไรก็ดี แผลเป็นจากการทำหน้าอกนั้นสามารถป้องกันและรักษาได้ครับ แต่ก่อนอื่นคนไข้ต้องทำความรู้จักกับแผลเป็นชนิดต่างๆ เพื่อที่จะรักษาได้อยากถูกต้องนั่นเองครับ

รอยแผลหลังทำหน้าอก ปัญหากวนใจ รักษาอย่างไรดี?
แน่นอนว่า ในการผ่าตัดหรือศัลกรรมใดๆ มักจะมีรอยแผลเสมอครับ ซึ่งแผลเหล่านั้นจะรอยใหญ่หรือเล็กก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น วิธีที่คนไข้เลือกผ่าตัด เทคนิคทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งหลังจากนั้น รอยแผลที่เกิดก็ควรได้รับการดูแลอย่างดีในช่วงคนไข้พักฟื้นเพื่อให้แน่ใจว่าผิวของคนไข้จะเรียบเนียนเช่นเดิม อย่างไรก็ดี การเกิดแผลเป็นนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ บทความนี้หมอจึงจะมาแชร์เทคนิคการดูแลแผลและรักษาแผลเป็นให้คนไข้ได้อ่านกันครับ
แผลเป็นจากการศัลกรรมมีกี่ชนิด?
แผลเป็นมีหลายรูปแบบ แต่แผลเป็นที่ถือว่าผิดปกตินั้นจะแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1.แผลเป็นที่โตนูน แผลเป็นที่โตนูนมี 2 แบบคือ
- แผลเป็นนูนเกิน หรือ hypertrophic scar เป็นแผลเป็นที่โตนูน แต่ไม่เกินขอบเขตของแผลเดิมในระยะแรกจะมีลักษณะนูน แดง คัน
- แผลเป็นคีลอยด์ เป็นแผลเป็นที่โตนูน และขยายใหญ่เกินขอบเขตของแผลเดิมไปมาก
2.แผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไป
เรียกว่า depressed scar มีลักษณะเป็นร่อง หรือรูบุ๋มลึกลงไปใต้ผิวหนัง
3.แผลเป็นที่มีการหดรั้งร่วมด้วย
เรียกว่า scar contracture แผลเป็นชนิดนี้จะดึงรั้งอวัยวะบริเวณแผลให้ผิดรูปได้
ข้อควรรู้:แผลเป็นทั้งสามลักษณะนี้อาจจะมีผิวสีซีดที่เรียกว่า hypopigmentation หรือผิวสีเข้ม hyperpigmentation ก็ได้
สาเหตุของการเกิดแผลชนิดต่างๆ
hypertrophic scar เกิดจากอะไร…
จริงๆแล้วยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าทำไมบางคนถึงเกิด hypertrophic scar หรือแผลเป็นนูนเกิน แต่สาเหตุอาจจะพบได้จากการที่แผลเกิดในตำแหน่งที่ความตึงมาก เช่น บริเวณข้อต่อหรือกลางหน้าอก เป็นต้น แผลเป็นนูนเกินนี้มักจะพบได้มากในช่วงระยะ 6 เดือนแรก หลังจากนั้นก็จะค่อยๆยุบลง และจะกลับเข้าสู่แผลเป็นคงที่ (stable scar) มีลักษณะใกล้เคียงแผลเป็นปกติในช่วงประมาณ 1 ปีภายหลังเกิดแผล
แผลเป็นคีลอยด์ เกิดจากอะไร…
จริงๆก็ยังไม่ทราบสาเหตุของแผลเป็นคีลอยด์ แต่พบว่ามักจะเกิดในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม ในตำแหน่งที่เกิดได้บ่อย ได้แก่ หัวไหล่ ติ่งหูและกลางหน้าอก ส่วนหนึ่งพบในผู้ป่วยที่มีประวัติทางพันธุกรรม คือ มีประวัติการเกิดคีลอยด์ในพ่อหรือแม่ แผลเป็นคีลอยด์นี้เชื่อว่าเกิดจากการที่แผลเป็นมีการสร้างสารที่เรียกว่าคอลลาเจนมากเกินกว่าปกติ

วิธีลดรอยแผลเป็นหลังจากการทำหน้าอก มีกี่วิธี?
หากพบว่ามีแผลเป็นเกิดขึ้นแล้ว คนไข้อาจจะเริ่มจากการรักษาโดย
วิธีที่ 1
คือ วิธีอนุรักษ์ หรือว่า conservative ก่อน โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่าเกิน 95 % รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด วิธีที่แนะนำให้ใช้วิธีแรกคือ การใช้แผ่นซิลิโคนปิด แผ่นซิลิโคนนี้จะเป็นแผ่นเจลใสๆที่ทำมาจากซิลิโคน เราสามารถปิดไว้บนบาดแผล หลังจากบาดแผลหายดีแล้วประมาณ 7 วัน การปิดแผลนี้แนะนำให้ปิดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งข้อดีจะทำให้บริเวณผิวหนังที่อยู่ใต้แผ่นซิลิโคนนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้ลดการอักเสบได้
วิธีที่ 2
เนื่องจากว่าบางครั้งเราพบว่าการปิดด้วยซิลิโคนอาจจะไม่สะดวก การใช้แผ่นเทปเหนียว หรือว่า microporous tape ก็จะสามารถทดแทนได้เช่นเดียวกัน แผ่นเทปเหนียวนี้สามารถใช้ปิดลงบนบาดแผลได้โดยตรง และจะทำให้ผิวหนังบริเวณใต้ต่อเทปนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้มีการอักเสบลดน้อยลง
วิธีที่ 3
การฉีดยาด้วยยาสเตียรอยด์ จะลดการอักเสบของการเกิดเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ได้ ยาที่แนะนำคือ Triamcinolone acetonide ซึ่งเป็นยาฉีดเฉพาะที่ สามารถลดการอักเสบ วิธีการรักษาคือฉีดยาเข้าไปในแผลเป็นโดยตรง แต่ก็อาจทำให้มีอาการเจ็บได้พอสมควรในระหว่างการฉีดยา จะแนะนำให้ฉีดแผลเป็นนี้ในช่วงระยะประมาณไม่เกิน 1 ปีแรกหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่แล้วจะนัดมาฉีดประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งความถี่ในการฉีดขึ้นอยู่กับการตอบสนองของยาว่าเป็นอย่างไร
วิธีที่ 4
คือการผ่าตัด การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับรูปแบบของแผลเป็นนั้น ถ้าเป็นกรณีที่เกิดเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ เราก็อาจจะใช้วิธีตัดออก หรือว่าลดขนาดลงบางส่วน วิธีนี้อาจจะใช้ร่วมกับการรักษาโดยวิธีอื่น เช่น การฉีดยา หรือการปิดด้วยแผ่นซิลิโคนก็ได้ การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธี อาจจะใช้วิธีตัดออกโดยตรงแล้วเย็บปิดเป็นเส้นตรง หรืออาจจะตัดออกเป็นรูปซิกแซก เพื่อที่จะให้แผลเป็นที่เกิดขึ้นใหม่มีลักษณะใกล้เคียงกับรอยย่นตามผิวหนัง
การผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งคือการลดขนาดของแผลเป็น วิธีนี้เราจะใช้วิธีการตัดแผลเป็นออกบ้างบางส่วน โดยจะไม่ตัดออกทั้งหมด หลังจากนั้นจะนัดผู้ป่วยมาเพื่อติดตามผลการรักษา หากแผลเป็นมีขนาดเล็กลงอาจจะนัดมาตัดซ้ำอีกครั้ง เรียกว่าการตัดแบบทีละน้อย หรือ
serial excision วิธีการผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งคือการใช้วิธีขัดกรอผิวหนัง หรือว่า dermabrasion การขัดกรอผิวหนังนี้จะใช้ในกรณีที่มีแผลเป็นที่รอยขรุขระหรือไม่เรียบหรือเป็นรอยบุ๋ม แผลเป็นนี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากสิวอักเสบหรือโรคสุกใส การใช้หัวกรอหรือใช้แสงเลเซอร์ยิงบริเวณที่รอยขรุขระนี้ เพื่อจะปรับสภาพผิวให้ราบเรียบขึ้น แต่ข้อควรระวังคืออาจจะเกิดมีการเกิดผิวสีเข้มหรือ hyperpigmentation บริเวณนั้นได้
การรักษาแผลเป็นนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาดูว่าแผลเป็นนั้นเป็นแผลเป็นนูนชนิดใด หากเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ จะต้องพิจารณาการรักษาอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นอาจจะมีแผลเป็นใหญ่โตเกินกว่าขนาดเดิมได้ โดยทั่วไปแล้วแผลเป็นมักจะสามารถป้องกันได้ เพราะฉะนั้นหากเรารู้จักวิธีการดูแลรักษาภายหลังจากที่ได้รับแผลเป็นใหม่ๆ ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้แผลเป็นนั้นนูนเกินหรือเป็นคีลอยด์ได้ในอนาคต
5 เทคนิคดีๆ ในการดูแลตัวเองโดยไม่ให้เกิดรอยแผลหลังทำหน้าอก
1.ป้องกันการเกิดแผลเป็น
ส่วนใหญ่แล้วหลังผ่าตัดคุณหมอจะปิดแผลไว้ด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ ซึ่งทำให้คนไข้อาบน้ำได้สะดวกมากขึ้น และลดโอกาสที่แผลผ่าตัดจะโดนน้ำทำให้แผลหายช้ากว่าปกติ หลังจากนั้นเมื่อแผลเริ่มแห้ง ก็อาจจะเปลี่ยนมาใช้เป็นแผ่นซิลิโคนที่ช่วยลดรอยนูนของแผลที่เรียกว่าคีลอยด์และช่วยกันน้ำโดนแผลได้ประมาณหนึ่
2.ระวังเรื่องการติดเชื้อ
ไม่ว่าการผ่าตัดครั้งนั้นจะใช้ไหมละลายหรือไหมแบบไม่ละลาย นั่นก็ไม่มีผลต่อการนูนหรือการเกิดแผลเป็น แต่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของไหมที่ใช้ในการดึงรั้งแผล และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องมากกว่าเช่นหากดูแลรักษาแผลไม่ดีจนเกิดติดเชื้อ ก็อาจจะทำให้แผลมีรอยนูนเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นควรระวังให้มาก ไม่แกะพลาสเตอร์ออกเอง หรือหากมีอาการคันแนะนำให้ปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุด เพราะคุณหมออาจจะจ่ายยาที่ช่วยลดอาการคันที่เกิดจากการแพ้พลาสเตอร์กันน้ำให้ และควรรักษาความสะอาดของบริเวณแผลผ่าตัดให้ดี เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้
3.หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท
คนที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าแพ้อาหารประเภทใดอยู่ เช่น อาหารทะเล นมสด ถั่ว ฯลฯ ปกติก็ควรหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว และควรเพิ่มความระมัดระวังในการทานอาหารต่างๆ ให้มากขึ้น ไม่ควรทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารประเภทหมักดอง เพราะอาจทำให้ติดเชื้อหรือมีสารเคมีและสารพิษปะปนได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้แผลเน่าหรือแห้งช้ากว่าที่ควรจะเป็น
4.บำรุงด้วยการทานอาหารดีๆ
การทานอาหารที่ดีจะช่วยสมานแผลให้หายเร็วขึ้นได้ อย่างโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์ ไขมันดีจากน้ำมันมะกอก คาร์โบไฮเดรตอย่างข้าวกล้องไม่ขัดสี ผักผลไม้ต่างๆ ที่มีวิตามิน ก็ช่วยในการสร้างเซลล์ผิวและเยื้อหุ้มผิวใหม่สร้างขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นเอง
5.งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
เพราะสารพิษที่อยู่ในบุหรี่จะทำลายเซลล์ที่จะเข้าไปซ่อมแซมบริเวณแผลผ่าตัดให้ลดน้อยลง และทำให้เลือดที่มาเลี้ยงแผลผ่าตัดน้อยลง ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและยังทำให้เสี่ยงติดเชื้อที่แผลด้วย ทางที่ดีควรงดสูบบุหรี่ทั้งก่อนและหลังผ่าตัดอย่างน้อย 4 สัปดาห์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความ : 4 ข้อควรรู้ก่อน “อัพไซส์” ศัลยกรรมเสริมหน้าอก แบบมั่นใจ ต้องอ่าน!! บทความ : การเสริมหน้าอกด้วยไขมันตัวเองคืออะไร ทรงหน้าอกสุดฮิต หน้าอกทรงไหนนิยมทำศัลยกรรมหน้าอกมากที่สุด